การอบไอน้ำสมุนไพร เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายๆชนิดมาต้มเพื่อให้เกิดไอน้ำขึ้นภายในตู้อบหรือกระโจม นิยมใช้ในการบำบัดและส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ในการกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ช่วยให้หลอดลมขยายหายใจสะดวกมากขึ้น และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด วิธีการอบไอน้ำสมุนไพร เข้าอบไอน้ำไม่ควรเกิน 10-15 นาที ต่อรอบ ออกมาพักข้างนอกตู้อบประมาณ 5 นาที เป็นเวลา 2 รอบ
การอบไอน้ำสมุนไพรมีประโยชน์อย่างไร
- กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ดีขึ้น
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- บรรเทาอาการคัดจมูกในผู้ที่เป็นหวัด โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง
- ช่วยเปิดรูขุมขนและขับเหงื่อ
- ช่วยขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด
การอบไอน้ำสมุนไพรมีข้อห้าม/ข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
ข้อห้ามในการอบไอน้ำสมุนไพร
- มีไข้สูงเกิน ๓๘.๕ องศาเซลเซียส
- มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร
- หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน ๓๐ นาที
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคไตชนิดรุนแรง โรคหัวใจ มีอาการเจ็บแน่น หน้าอก หอบเหนื่อย
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
- ผู้ที่มีบาดแผลเปิด มีการอักเสบของบาดแผล หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนัง
- หญิงขณะมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์
- ผู้ที่แพ้สมุนไพร หรือแพ้ความร้อน
ข้อควรระวังในการอบไอน้ำสมุนไพร
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า ๙๐/๖๐ หรือสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติ ต้องสังเกตอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด
- ไม่ควรอบนานเกิน ๓๐ นาที จะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อ ส่งผลให้อ่อนเพลียและอาจเป็นลมได้
- ในขณะอบไอน้ำสมุนไพร หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรหยุดทันที